นักรบอัลลอยเป็นจริง! จีนพัฒนาโลหะเหลวรักษากระดูกหายในไม่กี่นาที
https://chipathait.blogspot.com/2014/11/blog-post_3.html
นักรบอัลลอยเป็นจริง! จีนพัฒนาโลหะเหลวรักษากระดูกหายในไม่กี่นาที
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง กำลังพัฒนาเทคนิคการรักษากระดูกหักหายภายในไม่กี่นาทีแทนการเข้าเฝือกนับเดือน เตรียมใช้ประโยชน์ทางการทหาร
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงาน (2 พ.ย.) อ้างคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยชิงหวา ว่ากำลังพัฒนาเทคนิคการรักษากระดูกหักหายภายในไม่กี่นาทีแทนการเข้าเฝือกนับเดือน โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อใช้ทางการทหาร อาทิ ทหารคนเหล็ก นักรบอัลลอยที่มีร่างกายสุดแกร่ง ไม่หวั่นอาวุธข้าศึก
เทคโนโลยีรักษาใหม่นี้คือการใช้โลหะเหลวอัลลอย เสริมเข้าไปกับกระดูกที่แตกหักเพื่อรักษาให้หายได้ภายในไม่กี่นาที โดยศาสตราจารย์หลิว จิ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวเวช (biomedical engineering) หรือ วิศวกรรมการแพทย์ (medical engineering) และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า "นี่เป็นความก้าวหน้าที่เปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ที่ไม่มีสิ้นสุด ด้วยว่าเทคโนโลยีนี้ ไม่เพียงเป็นการปฏิวัติการรักษาอาการบาดเจ็บทางกระดูก แต่ยังสามารถสร้างภาวะสุดยอดทางด้านร่างกายเหมือนนิยายฮีโร่ เดอะ วูล์ฟเวอรีน"
ศาสตราจารย์หลิว และคณะฯ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยโลหะอัลลอยในวารสาร Biomaterials เมื่อเดือนตุลาคมว่า พวกเขาได้ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าวกับ สุกร และหนู แต่ยังไม่เคยทดลองกับมนุษย์
"ผลการทดสอบทำให้เชื่อมั่นว่าจะนำมาใช้จริงได้ อัลลอย์นั้นมีความปลอดภัยและมีความเป็นพิษต่ำ" ศ.หลิว กล่าวและว่า เขาได้ทราบว่ามีเทคโนโลยีนี้ในประเทศอื่นๆ เช่นกัน และพวกตนกำลังดำเนินการขั้นตอนแรก
ทั้งนี้ การปลูกถ่ายรักษากระดูกด้วยโลหะนั้นมีการดำเนินการมานานหลายปี แต่ทุกกรณีต้องมีการผ่าตัดและใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ แต่สำหรับ โลหะผสมเทคโนโยลีใหม่นี้ มีส่วนผสมระหว่าง บิสมัท อินเดียม ดีบุก และสังกะสี สามารถเสริมรอยแตกขนาดเล็กได้โดยการฉีด นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมความเหลวเพื่อเข้าสู่จุดเป้าหมายได้โดยตรง ทำให้เทคโนโลยีการรักษานี้ มีประโยชน์ในการรักษาฉุกเฉินทหารที่บาดเจ็บ ให้สามารถกลับคืนสู่สมรภูมิได้อย่างแข็งแกร่ง
เหมา เจิ้งเหว่ย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ สามารถรักษาแทนการผ่าตัดกระดูกแบบเดิม อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังจำเป็นต้องพัฒนาอีกหลายปีก่อนจะพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัยและใช้งานได้จริง
ที่มา unigang