6 ค่ายมือถือสุดหรูที่จะทำให้คุณอึ้งในราคา
https://chipathait.blogspot.com/2014/08/6.html
นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สมาร์ทโฟนในหลายๆ ประเทศ ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการสะท้อนฐานะทางสังคมไปซะแล้ว เพราะแม้ตัวผู้ใช้จะไม่ได้คิดอะไรก็ตาม แต่คนรอบข้างมักมีทัศนะคติต่อผู้ใช้สมาร์ทโฟนของค่ายต่างๆ แตกต่างกันไป (อย่างที่มักมีการถกเถียงกันตามเว็บบอร์ดต่างๆ อยู่ในทุกวันนี้) และถ้าคุณคือคนหนึ่งที่กำลังคิดว่าใช้สมาร์ทโฟนของค่ายนี้ดูดีมีสกุลกว่าค่ายอื่น หรือต้องใช้ค่ายนี้เท่านั้นถึงจะสมราคาที่จะงัดขึ้นมาโชว์ เอาเป็นว่าเราลองมาดูฟีเจอร์โฟน หรือสมาร์ทโฟนจากค่ายที่อาจจะไม่คุ้นหูเราสักเท่าไหร่ แต่ขอบอกว่าทั้งราคาและดีไซน์ของแต่ละเครื่อง แต่ละค่ายนั้นหรูหรามิใช่น้อยเลยทีเดียว
Vertu
เรียกว่าเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกการสร้างตลาดแนวนี้เลยก็ว่าได้ โดย Vertu นั้นกำเนิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ Frank Nuovo อดีตหัวหน้าแผนกออกแบบของ Nokia ที่กำลังทำโครงการ Nokia ซีรีส์ 8800 ในปี 1995 ที่อังกฤษ และเริ่มก่อตัวอย่างจริงจังช่วงปี 1998-2000 ก่อนที่จะเปิดตัวมือถือ Vertu Signature ในปี 2002 ที่ปัจจุบันมีวางจำหน่ายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
สำหรับจุดขายของ Vertu นั้น อยู่ที่การเป็นโทรศัพท์ซึ่งประกอบด้วยมือ (handmade) เช่นเดียวกับนาฬิกาหรูๆ หลายยี่ห้อที่มักโฆษณาว่าเป็นของทำมือ และยังมาพร้อมกลไกต่างๆ ที่หรูหราไม่แพ้กัน เช่น ปุ่มกดที่ทำจากทับทิม ซึ่ง Vertu อ้างว่ามีความทนทานกว่าปุ่มกดทั่วไป และยังใช้วัสดุหุ้มด้านนอกด้วยหนังแท้ แถมยังมีเสียงเรียกเข้าเฉพาะที่เล่นโดยวงดุริยางค์กรุงลอนดอน และเมื่อคุณได้ครองมือถือของค่ายนี้ ก็จะมีบริการเลขาส่วนตัวสำหรับจัดหาสินค้าและบริการต่างๆ แถมมาด้วย
สนนราคาค่างวดของมือถือจากค่ายนี้ เริ่มต้นที่ประมาณ 200,000 บาท จนไปจบที่หลักล้าน...เท่านั้นเอง
Mobiado
จัดเป็นผู้เล่นรายที่สองในตลาดมือถือหรูๆ ต่อจาก Vertu ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 ในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นค่ายที่ใส่ใจเรื่องของวัสดุและการออกแบบมากเป็นพิเศษ ล่าสุด Mobiado ได้ผลิตรุ่นที่ให้ศิลปินของบริษัท ลงสีจริงบนตัวเครื่องด้วยในชื่อซีรีส์ Professional 3 DC รวมถึงความแม่นยำของการผลิตที่เกิดจากการใช้เครื่องผลิตแบบ CNC ที่เป็นเครื่องจักรในการใช้ผลิตหรือขึ้นรูปชิ้นงานที่เป็นโลหะซึ่งควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์
ปัจจุบัน Mobiado มีจำหน่ายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีปรากฏวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
ราคามือถือของ Mobiado นั้นเริ่มต้นที่ประมาณ 60,000 บาท จนไปจบที่หลักล้านสำหรับรุ่นที่หายากและมีจำนวนการผลิตที่น้อย
TAG Heuer
หนึ่งในผู้ผลิตนาฬิกาที่หันมาจับตลาดมือถือราคาหรูเมื่อปี 2008 โดยร่วมมือกับบริษัท ModeLabs ซึ่งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในประเทศฝรั่งเศส และได้ผลิตฟีเจอร์โฟนสำหรับตลาดหรูในชื่อ Meridiist และสมาร์ทโฟนในชื่อ LINK และ Racer
สำหรับจุดขายของ TAG Heuer อยู่ที่การออกแบบ วัสดุ นวัตกรรม (เช่น Meridiist Infinite โทรศัพท์ชาร์จตัวเองได้จากพลังงานแสงอาทิตย์) และด้วยความเข้มแข็งของแบรนด์ที่มั่นคงมาจากตลาดนาฬิกา ทำให้ปัจจุบัน TAG Heuer จำหน่ายสมาร์ทโฟนผ่านร้านค้าของตัวเองที่มีทั่วโลกและรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนราคานั้น เริ่มต้นที่ประมาณ 100,000 บาท และไปจบที่หลักแสนกลางๆ สำหรับรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมดเป็นสมาร์ทโฟน
Gresso เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมจากสหรัฐอเมริกา โดยเน้นทำตลาดสำหรับโทรศัพท์มือถือในกลุ่มประเทศรัสเซียและอดีตสหภาพโซเวียต ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเข้ามาปรากฏตัวในตลาดมือถือระดับหรูเป็นครั้งแรกในปี 2006 พร้อมกับฟีเจอร์โฟนที่ทำจากไม้หายากอย่าง African Blackwood และแร่ล้ำค่าอย่างทองคำ แถม Gresso ยังออกแบบโทรศัพท์และปรับแต่งซอฟต์แวร์ด้วยตัวเองอีกด้วย
ปัจจุบัน Gresso มีทั้งสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟน โดยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท ไปจนถึงแสนต้นๆ
Porsche Design
Porsche Design เป็นบริษัทลูกของ Porsche AG ค่ายรถยนต์หรูจากเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 เป็นผลมาจากการรวมกันของบรรดาสินค้าที่เป็นอุปกรณ์เสริมและเครื่องประดับ ของ Porsche อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา และ แว่นตา
ในส่วนของ Porsche Design นั้นแรกเริ่มเป็นการจับมือกับ Sagem ผลิตฟีเจอร์โฟนออกมาสองรุ่น คือ P’9521 โทรศัพท์แบบฝาพับ และ P’9522 โทรศัพท์ทรง Candy Bar ก่อนที่จะหันไปจับมือกับ BlackBerry ออกโทรศัพท์มือถือรุ่น P’9981 ในปี 2011 ซึ่งดัดแปลงมาจาก Bold 9900 และ P’9982 ที่ดัดแปลงมาจาก Z10ในปี 2013
ส่วนจุดเด่นของ Porsche Design ยังคงเป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องของการออกแบบเป็นหลัก แต่ถึงจะใช้วัสดุที่ดีกว่ามือถืออื่นในท้องตลาด แต่ก็ไม่ได้ดีมากเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่นที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ทำให้ราคามือถือของ Porsche Design นั้นค่อนข้างถูกกว่าคู่แข่งรายอื่น โดยมีราคาอยู่ที่ราวๆ 60,000 – 70,000 บาท
Savelli
น้องใหม่รายล่าสุดที่เพิ่มเข้ามาในตลาดมือถือราคาหรู ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้ง Alessandro Savelli ที่เติบโตมาจากตระกูลนักธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ มีผู้ร่วมก่อตั้งคือ Ketty Pucci - Sisti Maisonrouge เจ้าแม่แห่งวงการแฟชั่น ผู้เป็นเจ้าของ KM&Co. ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและคำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพในตลาดสินค้าหรูทั้งหลาย
สำหรับจุดเด่นของ Savelli นั้น อยู่ที่การเป็นมือถือหรูซึ่งออกแบบมาเพื่อ “ผู้หญิง” โดยเฉพาะ โดยเน้นลักษณะมือถือที่มีรูปทรงโค้งมนต่างแบรนด์อื่น และยังเน้นเรื่องของการใช้วัสดุหรูหราที่แสดงความเป็นผู้หญิงออกมาอีกด้วย
อย่างไรก็ดี Savelli ยังคงวางจำหน่ายอยู่ในกลุ่มประเทศแถบยุโรปเป็นหลัก และยังไม่มีแผนวางจำหน่ายในโซนอื่นของโลก ราคานั้นเริ่มต้นที่หลักแสนขึ้นไป ก่อนจะจบที่ราวๆ หลักสิบล้านในรุ่นที่มีการสั่งทำพิเศษ
มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า...มันมีจริงๆ หรือ กับคนที่ยอมจ่ายเพื่อจะเป็นเจ้าของมือถือราคาที่ว่านี้...ถ้าจะอธิบายในเชิงทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ การบริโภคสินค้าที่มีความหรูหราเหล่านี้ มีชื่อเรียกว่า “Conspicuous consumption” หรือแปลภาษาไทยคือ “การบริโภคเพื่อแสดงสถานะ” ซึ่งเป็นคำที่ถูกคิดขึ้นโดยนักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน Thorstein Veblen
พูดง่ายๆ ก็คือ การบริโภคเพื่อแสดงสถานะ เช่น การจ่ายเงินไปเพื่อจัดหาสินค้าหรือบริการที่เป็นของหรูหรา ฟุ่มเฟือย เพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนถึงสถานะและพลังทางเศรษฐกิจของตัวเอง แม้จะเป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนปลาย แต่ดูเหมือนทฤษฎีนี้ยังคงใช้ได้ดีในยุคปัจจุบัน นั่นก็เพราะการแสดงออกโดยผ่านการบริโภคสินค้าหรูหรา หรือสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยนั้น เป็นการสื่ออย่างชัดเจนต่อสายตาของบุคคลภายนอกถึงความร่ำรวย ความซับซ้อนของรสนิยม และยังเป็นรูปแบบเชิงประจักษ์ที่จับต้องและมองเห็นได้